โมเด็ม หรือ Modem ย่อมาจากคำว่า Modulation/Demodulation มีหน้าที่หลักคือ ทำการแปลงสัญญาณ ดิจิตอล ให้เป็นสัญญาณ เสียง และแปลง สัญญาณเสียง กลับมาเป็น สัญญาณดิจิตอล หรือทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ ก็คือทำการแปลงข้อมูลต่าง ๆ ในระบบคอมพิวเตอร์ให้เป็นสัญญาณเสียง เพื่อให้สามารถส่งออกไปทางคู่สายโทรศัพท์ได้ โดยที่ปลายทางก็จะมี Modem ที่ทำหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงที่ได้ กลับมาเป็นข้อมูลต่าง ๆ เหมือนเดิมได้
ประโยชน์ที่เห็นและใช้งานกันค่อนข้างมาก คือการนำมาใช้สำหรับส่งข้อมูลต่าง ๆ หรือใช้สำหรับการเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต นั่นเอง ซึ่งในที่นี้จะขอแนะนำให้ทำความรู้จักกับ โมเด็มแบบต่าง ๆ ไว้พอเป็นพื้นฐาน สำหรับการทำความเข้าใจเบื้องต้น
มาตราฐานต่าง ๆ ของโมเด็ม
สมัยแรก ๆ โมเด็มที่มีใช้งาน จะมีความเร็วแค่เพียง 1,200 bps เท่านั้น และได้มีการพัฒนาความเร็วให้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ความเร็วของโมเด็มจะอยู่ที่ 56Kbps
Baud Rate คืออัตราการเปลี่ยนแปลงของลูกคลื่นสัญญาณ โดยมากจะมีค่าเป็น 2,400
Bit Rate คืออัตราการส่งข้อมูล ที่สามารถรับส่งได้จริง
ในส่วนของโมเด็มที่มีความเร็วสูงกว่า 33.6Kbps หรือที่เห็นเป็น 56Kbps นั้น ความจริงแล้วจะมีอัตราการรับข้อมูลได้สูงสุด ไม่เกิน 53Kbps และสามารถส่งข้อมูลได้สูงสุดเพียงแค่ประมาณ 33.6Kbps เท่านั้น ลองนึกภาพการเอาโมเด็มแบบ 56Kbps 2 ตัวมาต่อกันโดยตรง จะเห็นว่าถ้าหากอัตราการส่งข้อมูล จะได้ไม่เกิน 33.6Kbps หมายความว่า เราจะสามารถต่อโมเด็ม 2 ตัวด้วยกันตรง ๆ ได้ความเร็วไม่เกิน 33.6Kbps นะครับ หลายท่านคงจะงง ว่าแล้วที่เห็นความเร็วได้สูงกว่านั้นล่ะ คืออะไร คำตอบก็คือระบบ โมเด็มที่ ISP ส่วนใหญ่ใช้งานกันในการให้บริการด้วยความเร็ว 56Kbps จะเป็นการต่อโดยตรง เข้ากับชุมสายโทรศัพท์แบบดิจิตอล จึงทำให้สามารถส่งข้อมูลที่ความเร็วสูงสุด 53Kbps ได้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพ ของคู่สายและองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย)
นอกจากนี้ หากการเชื่อมต่อโมเด็มในแบบ 56Kbps โดยมีการต่อผ่านระบบ PABX หรือระบบโทรศัพท์ตู้สาขาต่าง ๆ (เช่น ตามหอพักหรือโรงแรม) จะสามารถเชื่อมต่อด้วยความเร็วสูงสุดที่ประมาณ 33.6Kbps เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า ระบบ PABX จะมีการลดทอนระดับสัญญาณต่าง ๆ ลงไปอีก หากต้องการต่อใช้งานให้ได้ความเร็วใกล้เคียงกับ 56Kbps ก็ต้องต่อโดยใช้ สายโทรศัพท์ที่เป็นสายตรงจากชุมสายโทรศัพท์เท่านั้น
มาตราฐานของ X2, K56Flex และ V.90
ครั้งแรกที่มีการคิดมาตราฐานของโมเด็มที่มีความเร็วสูงกว่า 33.6Kbps หรือที่เรียกว่า 56Kbps จะมีอยู่ 2 มาตราฐานที่เกิดขึ้นมาก่อน แต่ไม่สามารถใช้งานด้วยกันได้ นั่นคือ X2 และ 56K Flex ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานโมเด็ม ของทั้งสองมาตราฐานนี้ จะต้องใช้งานกับ ISP ที่รองรับระบบนั้น ๆ เท่านั้น ต่อมา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ และการทำให้เป็นมาตราฐานเดียวกัน จึงได้มีมาตราฐาน V.90 เกิดขึ้นสำหรับการใช้งานในความเร็ว 56Kbps ซึ่งโมเด็มหลาย ๆ ยี่ห้อก็จะมีความสามารถ upgrade จากระบบเดิมให้เป็นแบบ V.90 ได้ด้วย ดังนั้นหากจะเลือกซื้อโมเด็มมาใช้งานในปัจจุบัน ควรเลือกยี่ห้อหรือรุ่นที่รองรับมาตราฐาน V.90 ไว้ด้วย เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในการใช้งาน
ควรจะเปลี่ยนโมเด็มตัวใหม่หรือยัง
จากประสบการณ์การใช้งานจริง โดยการใช้โมเด็มที่มีความเร็วตั้งแต่ 28.8Kbps, 33.6Kbps และ 56Kbps จะมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก โดยที่โมเด็มความเร็ว 56Kbps ที่เคยใช้งานจะสามารถต่อได้จริงที่ประมาณ 45Kbps ซึ่งหากเทียบกับการใช้งานโมเด็ม 28.8Kbps แล้วบอกได้เลยว่า ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก โดยเฉพาะ การใช้งานเล่น อินเตอร์เน็ต เปิดเว็บเพจแบบทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าหากเป็นการใช้สำหรับดาวน์โหลดข้อมูลหรือไฟล์ต่าง ๆ ก็จะรู้สึกได้ว่าโมเด็มแบบ 56Kbps จะเร็วกว่าหน่อยนึง ดังนั้น หากใครที่ใช้โมเด็มความเร็วที่ 28.8Kbps อยู่ตอนนี้บอกได้เลยว่าไม่คุ้มที่จะเปลี่ยนเป็น 56Kbps ครับ ยกเว้นว่าคุณจะเป็นนักดาวน์โหลดข้อมูล ที่เน้นการดาวน์โหลดจริง ๆ
ใช้โมเด็มแบบ Internal หรือ External ดี
ลักษณะของโมเด็มสามารถแบ่งตามรูปร่างได้เป็น 2 แบบคือแบบติดตั้งภายใน (Internal) และแบบติดตั้งภายนอก (External) ทั้งสองอย่างนี้ก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนั้นก่อนการเลือกซื้อลองพิจารณาข้อมูล ความแตกต่างและการใช้งาน
WinModem
มีโมเด็มบางประเภทที่ทำเป็นการ์ดเสียบในเครื่อง โดยตัดฟังค์ชันการควบคุมออกไป เหลือแต่ตัวแปลงสัญญาณ แล้วใช้ซีพียูทำงานแทน มักจะเรียกกันว่า WinModem หรือ Modem Riser โมเด็มประเภทนี้มีข้อดีคือ จะมีราคาถูกแต่จะต้องการซีพียู ที่มีความเร็วสูง ๆ จึงจะใช้งานได้ ข้อเสียคือ จะต้องใช้ซีพียูในการทำงานด้วยส่วนหนึ่ง จึงเป็นการไปถ่วงการทำงานของซีพียู จึงมักจะไม่นิยมใช้งานกัน
Voice โมเด็ม
ในโมเด็มบางรุ่น มีการเพิ่มความสามารถในการจัดการเรื่องของเสียงเข้าไป ทำให้สามารถใช้งานโมเด็มได้มากขึ้นเช่น เป็นระบบรับฝากข้อความ ระบบ Voice Mail Box หรือระบบการตอบรับโทรศัพท์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับซอฟต์แวร์ที่มีมาให้ด้วย นอกจากนี้ โมเด็มบางรุ่นสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเปิดเครืองคอมพิวเตอร์ไว้ก็ได้ เช่นตั้งให้เป็นเครื่องรับ FAX ได้โดยไม่ต้องเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ โดยที่ราคาของโมเด็มแบบนี้ก็อาจจะแพงกว่าแบบธรรมดา
FAX โมเด็ม
โมเด็มที่มีความเร็วตั้งแต่ประมาณ 9,600 bps ขึ้นไปส่วนใหญ่จะมีการเพิ่มความสามารถในการรับส่ง FAX เข้ามาด้วย ที่จริงแล้ว การรับส่ง FAX กับการรับส่งข้อมูลของโมเด็มจะเป็นคนละมาตราฐานกัน และชุดคำสั่งก็จะแตกต่างกัน ดังนั้น หากเลือกซื้อโมเด็มใหม่ ก็ลองสังเกตุตรงนี้ด้วย ว่าสามารถใช้งานการรับส่ง FAX ได้ด้วยหรือไม่ หลักการใช้งานของ FAX โมเด็มคือ ในการส่ง FAX นั้น Windows ก็จะมองว่า FAX โมเด็มนั้นเป็นเครืองพิมพ์ตัวหนึ่ง ที่กำลังจะพิมพ์งานออกไป ส่วนการรับ FAX ก็จะมองว่าเป็นการรับไฟล์รูปภาพของ FAX ที่กำลังจะส่งเข้ามานั่นเอง ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมใช้ซอฟต์แวร์ WINFAX ในการใช้งานรับส่ง FAX เพราะเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้ค่อนข้างง่าย
No dial tone detect
การแก้ไขปัญหา No dial tone detect เมื่อทำการต่ออินเตอร์เน็ต ถ้าข้อความแบบนี้เกิดขึ้น (มักจะเป็นกับบางคู่สายโทรศัพท์) ปีญหานี้เกิดจากตัวชิปของโมเด็ม ไม่สามารถรับรู้สัญญาณ dial tone ที่ส่งมาจากชุมสายโทรศัพท์ได้ ด้วยเหตุผลอะไรซักอย่าง การแก้ไขทำได้โดยการยกเลิกการ detect dial tone ออกซะ โดยการเลือกที่เมนู Properties ของ Connection นั้น ๆ เลือกที่ Configure… และเลือกที่ Connection ทำการยกเลิกการติ๊กที่ช่อง Wait for dial tone before dialing ครับ
การแก้ไขปัญหาสายหลุดบ่อย
เป็นปัญหาที่อาจจะยังไม่มีวิธีการแก้ไขที่ดีนัก แต่ให้ลองใส่ค่า s10=255 เข้าไปในช่องของ Extra Setting โดยเข้าที่ Properties >> Configure >> Connection >> Advanced >> Extra Setting ครับ อาจจะช่วยได้บ้าง
ทั้งหมดนี้ คงจะทำให้ได้รู้จักกับโมเด็มกันมากขึ้นบ้างนะครับ อาจจะไม่มีรายละเอียดมากนักแต่หวังว่าอย่างน้อย คุณก็ได้รู้จักกับอุปกรณ์ ที่ต้องใช้งานกันอยู่เกือบทุกวันได้มากขึ้น